#เมื่อวิกฤติถึงขีดสุดเราทุกคนต้องช่วยกัน
เมื่อโควิดระบาดหนักคนไข้ต้องนอนรอเตียงโรงพยาบาลหลายวัน จึงเป็นที่หน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องออกมาร่วมด้วยช่วยกันรักษาคนไข้เพื่อให้วิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นกันไปได้
#โรงพยาบาลรามาเปิดHospitelเพิ่ม
เนื่องจากHospitelแรกที่เปิดได้ขยายการรับผู้ป่วยจนเต็มกำลังแล้ว จึงต้องเปิดเพื่อขึ้นอีกแห่งเพื่อที่จะรับคนไข้ได้มากขึ้น ซึ่งในตอนแรกเราจะรับคนไข้ติดเชื้อโควิดที่อาการน้อยไว้รักษาใน Hospitel เรียกว่ากลุ่มคนไข้สีเขียว คือคนไข้ที่ไม่มีความเสี่ยงเท่าไร และไม่มีอาการตอนแรกรับมากนอกจากไข้และไอเล็กน้อยและ X ray ปอดยังปกติดี
แต่เพราะคนไข้ติดเชื้อโควิดพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนไข้กลุ่มสีเขียวนี้ต้องให้อยู่ที่บ้านแทน เรียกว่าเป็นระบบ Home isolation ซึ่งจะมีชุดยา อาหารและการติดตามอาการจากทีมแพทย์พยาบาลในแต่ละเขตที่รับดูแลอยู่
#หากเริ่มมีอาการหรือมีความเสี่ยงจึงได้นอนHospitel
เนื่องจากมีความสามารถในการรับคนไข้ได้จำกัด จึงต้องเลือกคนไข้ที่ไม่มีที่จะกักตัวแล้วจริงหรือคนไข้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการและมีแนวโน้มว่าเชื้อจะลงปอดไว้รักษาใน Hospitel เรียกว่ากลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง โดยจะมีมาตรฐานการดูแลไม่ต่างจากการนอนโรงพยาบาล ซึ่งทำให้เนื้องานของแพทย์และพยาบาลในการดูแลคนไข้มีมากไปด้วย
#เมื่อมาถึงHospitelคนไข้จะต้องทำอะไรบ้าง
ก็จะมีการแนะนำเรื่องการดูแลตัวเองและการที่ต้องวัดค่า Oxygen ส่งให้แพทย์และพยาบาล รวมถึงวัดไข้และอาการที่ต้องสังเกตเช่นอาการไอและอาการเหนื่อยหายใจไม่ทัน ซึ่งก็จะมีแพทย์พยาบาลโทรถามอาการอย่างน้อยวันละสองครั้ง และคนไข้สามารถโทรคิดต่อหรือ Line ได้ตลอดเวลา ซึ่งข้อมูลทั้งหมดทีมแพทย์พยาบาลก็จะต้องบันทึกลงแฟ้มเวชระเบียนไม่ต่างจากการนอนโรงพยาบาลจริง ดังนั้นงานเอกสารมันจะค่อนข้างเยอะ แต่ก็ต้องทำเพื่อให้มาตรฐานเป็นตามที่กำหนด
#แพทย์และพยาบาลต้องทำงานหนักมาก
ปกติแพทย์หนึ่งคนดูแลคนไข้ 40- 50 คนก็ถือว่ามากแล้ว รวมถึงพยาบาลที่ดูแลคนไข้ประมาณ 20 คนก็จะตึงมือมากแล้ว เหตุผลเพราะพยาบาลต้องถามอาการ จดค่าต่างๆ และเอาลงมาบันทึกในฟอร์มปรอทและใบข้อมูลทั้งหลายในแฟ้มเวชระเบียน ซึ่งจะมีทั้งประวัติ ใบการสั่งการรักษา ใบรายการยาที่คนไข้ได้ ใบสรุปอาการในแต่ละวัน ใบรับรองแพทย์ ใบสรุปการรักษา ใบแสดงความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่อาการผู้ป่วยแย่ลง แต่ตอนนี้คนไข้ยิ่งมาก ตอนหมอไปอยู่เวร แพทย์คนหนึ่งต้องดูคนไข้ 80 คน พยาบาลต้องดูคนไข้ 40 คน ซึ่งมัน overload จริง
ที่ข้อมูลทุกอย่างต้องละเอียดและมีระเบียบเพราะทั้งแพทย์และพยาบาลต้องหมุนเวียนขึ้นมาอยู่เวรดูแลคนไข้ ดังนั้นข้อมูลต้องอ่านเข้าใจง่ายและทำให้แพทย์คนต่อไปที่มารับเวรสามารถรักษาต่อเนื่องได้อย่างถูกต้องและไม่ผิดพลาด รวมถึงการที่คนไข้มีจำนวนเยอะมาก ข้อมูลเหล่านี้ยิ่งต้องทำให้ถูกต้อง
#แผนการรักษาที่เปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละวัน
คนไข้ที่ติดเชื้อโควิดแต่ละคนอาการไม่เท่ากัน การรักษาก็ไม่เหมือนกัน บางคนต้องได้ยาต้านไวรัส Favipiravir บางคนต้องได้ Steroid ด้วย บางคนต้องมีการติดตามดู X-ray ปอด และแต่ละคนก็มีการรักษาที่จำเพาะ ทำให้การรักษาต้องดูให้มั่นใจก่อนจะสั่งการรักษาในแต่ละคน หรือบางคนอาจจะมีอาการหนักขึ้นจนต้อง refer เข้าโรงพยาบาล ที่สำคัญเราจะใช้โทรติดตามอาการ จึงต้องใช้เวลาในการพูดคุยนาน เพื่อทำให้คนไข้คลายกังวล ดังนั้นในเนื้องานจะมีรายละเอียดมาก ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่คนที่อยู่เวร Hospitel ส่วนใหญ่แทบจะไม่มีเวลานั่งพักหรือทานข้าวกันเลย
#ในขณะที่คนไข้มากขึ้นจนต้องเปิดHospitelอีกคนทำงานก็น้อยลง
อย่างที่เป็นข่าวคือโรงพยาบาลใหญ่ต้องปิดแผนกเพราะมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อทำให้บุคลากรที่ทำงานเริ่มไม่พอ แต่คนไข้โควิดก็มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่รับคนไข้ไว้รักษา การระบาดของเชื้อก็จะแพร่ขยายไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นทางรพ.รามาจึงต้องขอให้บุคลากรทุกคน ที่แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาคนไข้โควิดโดยตรง ก็สามารถมาช่วยกันดูแลผู้ป่วยโควิดได้ เพราะคนทำงานน้อยลงไปทุกวันตามจำนวนคนที่ติดเชื้อและกักตัวในโรงพยาบาล
#จะผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้ต้องช่วยกัน
-เราเองต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นตัวไหน เพราะยังไงมันก็มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่พอได้ ซึ่งดีกว่าการที่รอคอยวัคซีน mRNA ที่ไม่รู้จะมาเมื่อไร
-การดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโควิดก็ยังต้องเคร่งครัดที่สุดในเวลานี้
#หากเกิดติดเชื้อโควิดโปรดเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานเต็มที่
โปรดอย่าใช้อารมณ์หรือคำพูดที่รุนแรงเพราะไม่ได้ช่วยการรักษาดีขึ้นแต่อย่างใด และมีแต่ทำให้เกิดความขุ่นมัวทั้งสองฝ่าย อย่าลืมว่าเรากำลังต่อสู้กับโควิด ไม่ใช่ต่อสู้กันเอง
คนไข้จะมีฐานะอะไร หรือทำหน้าที่การงานอะไร หรือแม้แต่เชื้อชาติอะไร เราก็รักษาอย่างเต็มที่เหมือนกัน พอเข้ารับการรักษาที่ Hospitel แล้วเราก็มีมาตรฐานเดียวกันในการดูแล ดังนั้นอาจจะต้องอดทนกับความไม่สะดวกสบายและงดการทำตามใจตัวเองบ้าง กฎเกณฑ์ทั้งหลายมีไว้เพื่อให้คนไข้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย เวลามีคนไข้ที่ไม่เข้าใจหรือดึงดันจะทำอย่างที่ตัวเองต้องการ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนลำบากมาก
#จะรักหรือเกลียดรัฐบาลการรักษาก็เหมือนกัน
เพราะเชื้อโควิดไม่ได้เลือกปฎิบัติกับใครเลย คือทุกคนสามารถติดเชื้อได้ และเชื้อลงปอดและเสียชีวิดได้ ดังนั้นเวลาการรักษาเราจึงไม่มีเรื่องของการเมืองมาเกี่ยวข้องและไม่ได้โทษว่าติดเชื้อเพราะความผิดใคร แม้ในใจเราอาจจะไม่ชอบการบริหารของรัฐบาลแต่กับคนไข้ทุกคนเราก็รักษาแบบเดียวกันแน่นอน
#โปรดเชื่อการรักษาของแพทย์และพยาบาลที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าคำแนะนำจากโซเชี่ยล
มีบางครั้งที่คนไข้เชื่อข้อมูลจากโซเชี่ยลหรือหมอที่รู้จักกันมากกว่าทีมผู้รักษาจริง และมากดดันให้ทีมแพทย์และพยาบาลต้องรักษาตามที่ตัวเองต้องการ ซึ่งตรงนี้ก็สร้างความลำบากใจให้กับคนที่ทำงานมาก เพราะแนวทางการรักษาทุกอย่างล้วนแต่มีการกำหนดข้อบ่งชี้ไว้ชัดเจนและมีการปรับปรุงตลอดเวลา จึงขอให้เชื่อแพทย์และพยาบาลที่ทำงานจริงนะครับ
#แม้ว่ากลัวแต่เราก็ต้องทำ
ทุกคนกลัวการติดเชื้อ แต่ในเมื่อคนไข้ที่ติดเชื้อมีมากขึ้นแบบทวีคูณ ในขณะเดียวกันทีมแพทย์และพยาบาลที่เกี่ยวข้องก็อ่อนล้าและติดเชื้อกันไปเป็นระลอก ทำให้ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ยังไหว ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจอาสามาช่วยคนไข้โควิดกัน มิเช่นนั้นปัญหาการระบาดนี้จะไม่มีวันจบและเราก็ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้สักที
#หากอยากให้กำลังใจแก่ทีมแพทย์และพยาบาล
สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิรามาธิบดี Line: @RamaFoundation โทร 02201-1111 หรือแค่นำอาหารอร่อยมาให้ที่ Hospitel ก็เป็นกำลังใจอย่างมากแล้ว
ซึ่งรามาเองมี Hospitel สองแห่งที่ โรงแรม Century Park ที่ถนนราชปรารภ ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ โรงแรม Grand Tower Inn ที่ถนนพระราม 6 ซึ่งตรงนี้ไม่จำเป็นต้องขอเบอร์โทรติดต่อเพราะไม่มีใครสะดวกรับสาย แค่ฝากเจ้าหน้าที่โรงแรมเขาก็จะนำไปให้ทีมแพทย์พยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเอง ซึ่งน่าจะมีเจ้าหน้าที่ทำงานประมาณ 30-40 คนต่อเวรครับ
#รามาร่วมใจสู้ภัยโควิด เราจะต้องรอดไปด้วยกันครับ